การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การดำเนินงานตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action : NAMA) มีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกจากสาขาพลังงานและขนส่งที่ ร้อยละ 7 – 20 หรือ คิดเป็น 24 – 74 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) โดยมีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกจากทุกภาคส่วน (Economy-Wide) อันได้แก่ สาขาพลังงานและขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย ที่ร้อยละ 20-25 หรือ คิดเป็น ไม่น้อยกว่า 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จาการดำเนินงานในกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573
ผลการดำเนินงานระยะที่ 1 พบว่า ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการภาคพลังงานได้เท่ากับ 57.84 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) หรือคิดเป็นร้อยละ 15.76 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายขั้นต้นของ NAMA ที่มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า ร้อยละ 7 ของการดำเนินงานภายในประเทศ เมื่อเทียบกับ BAU (Business as Usual) ของ NAMA ในปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020)
ปัจจุบันอยู่ในช่วงการดำเนินงานระยะที่ 2 ประเทศไทยเล็งเห็นศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ โดยเพิ่มความเข้มข้นการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และ Net-Zero GHG Emission ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) และเชื่อมั่นที่จะสามารถดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศตาม NDC ให้ได้ 40% ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)
ซึ่งความเชื่อมั่นในศักยภาพของการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศและความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกนั้น เป็นผลมาจากกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับบทบริบทของประเทศ การปรับตัวของระบบตลาดอย่างอย่างต่อเนื่อง รวมถึง การมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคน ที่เห็นถึงความสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ซึ่งตลาดคาร์บอนเครดิตที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อตลาดมีความต้องการมากยิ่งขึ้น ทำให้กิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกมีเพิ่มขึ้นด้วย เช่น กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการของเสีย รวมถึงการปลูกต้นไม้และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกจากจะช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว ยังสามารถรักษาระบบนิเวศ และสร้างสมดุลของความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย
(ที่มา: กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.))