ทรัพยากรป่าไม้มีความสำคัญทั้งต่อมนุษย์และสัตว์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น พันธุกรรมพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งเปรียบเสมือนตู้เชฟในการเก็บรักษาระบบธรรมชาติที่ซับซ้อน รวมถึงช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศจากมลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างมหาศาล พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เป็นกฎหมายที่สำคัญในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งได้ให้นิยามของคำว่า “ป่า” ตามมาตรา 4 ไว้ว่า “ป่า” หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็นต้นไป โดยมีเจตนารมในการกำหนดกลไกในเชิงควบคุมเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ การควบคุมการทำไม้ในป่า การป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า โดยพยายามสร้างสมดุลระหว่างการแสวงหาผลประโยชน์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไปพร้อมกัน เพื่อให้ทรัพยากรป่าไม้ที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้อย่างเสมอภาคและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองไม้หวงห้ามและของป่าหวงห้าม ควบคุมการทำไม้หวงห้ามในป่า ป้องกันการลักลอบตัดฟันไม้ทำลายป่า ควบคุมการนำเคลื่อนที่ไม้และของป่า ควบคุมการแปรรูปไม้ ควบคุมการตั้งโรงงานแปรรูปไม้ และป้องกันการลักลอบทำลายป่า แผ้วถางป่า ยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น และมีการกำหนดบทลงโทษไว้ดังนี้
(1) ผู้กระทำความผิดตามมาตรตรา 69, 72, 72 ทวิ, 72 ตรี,73 วรรค 1 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(2) ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
(3) ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 71 ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(4) ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 73 วรรค 2 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 50,000-2,000,000 บาท
(5) ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 73 ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 5 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(6) ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 74, 74 ทวิ ต้องถูกริบของกลาง เช่น เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องใช้ ยานพาหนะ สัตว์พาหนะ
จากสถานการณ์ป่าไม้ที่สงวน คุ้มครองไว้แล้ว และที่ยังมิได้สงวนคุ้มครองได้ถูกบุกรุกและลดลงอย่างน่าเป็นห่วง รวมถึงป่าไม้บริเวณต้นน้ำลำธารถูกแผ้วถางเผาทำลาย เป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้ง พื้นดินพังทลาย น้ำตื้นเขินหรือเกิดอุทกภัยอันเป็นผลเสียหายแก่การเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศอย่างร้ายแรง และด้วยกฎหมายที่ใช้อยู่นั้นไม่รัดกุมและกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ไม่เหมาะสม จึงเป็นเหตุให้มีการบุกรุกทำลายป่าได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อให้มีการคุ้มครองป้องกันรักษาป่าไม้ และสงวนป่าไม้ไว้เป็นเนื้อที่ประมาณร้อยละ 50 ของเนื้อที่ประเทศ หรือ 156 ล้านไร่ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ จึงได้มีการประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2507 เป็นต้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยห้ามมิให้บุคคลใดถือครอง อาศัยในที่ดิน รวมถึงการแผ้วถาง ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือทำกิจกรรมที่เป็นการทำให้สภาพป่าสงวนแห่งชาติเสียหาย ยกเว้นได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรืออธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ นอกจากนี้ ในมาตรา 20 ยังเปิดโอกาสให้สามารถทำการบำรุงป่าหรือปลูกสร้างสวนป่าหรือไม้ยืนต้นในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยเสียค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงป่าตามที่รัฐมนตรีกำหนด รวมถึง ได้ให้นิยามของคำว่า “ป่า” ตามมาตรา 4 ไว้ว่า “ป่า” หมายความว่า ที่ดิน รวมตลอดถึงภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และชายทะเลที่ยังไม่ได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย และมีการกำหนดบทลงโทษไว้ดังนี้
- ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท
- ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 33 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 33/1 วรรค 1, ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือขัดต่อคำสั่งเจ้าพนักงานต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้กระทำความผิดตามมาตรตรา 33/2, 33/3, ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกรณีฝ่าฝืนและก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 -20 ล้านบาท
- ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 35 ต้องถูกริบของกลาง เช่น เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องใช้ ยานพาหนะ สัตว์พาหนะ
การบังคับใช้พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มีข้อบกพร่องและส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งที่อยู่อาศัยมาก่อนและภายหลัง อีกทั้งยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิการใช้ประโยชน์หรือสิทธิซึ่งจะตกทอดไปยังทายาทอย่างเป็นธรรม รวมถึง ปัญหาขอบเขตการใช้ประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด ปัญหากฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎหมายที่ไม่ชัดเจน (กุสุมา สุพุทธี, 2563) เป็นเหตุให้ประชาชนขาดแคลนที่ดินทำกินจนต้องหันไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่อยมาหลายสมัย ซึ่งสาเหตุหนึ่งเนื่องจากมีการใช้เลื่อนโซ่ยนต์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการตัดไม้และแปรรูปไม้ที่มีประสิทธิภาพสูงกันอย่างแพร่หลาย แม้ว่าจะมีมาตรการควบคุมการนำเข้า แต่ก็ยังมีการลักลอบนำเลื่อยโซ่ยนต์เข้ามาใช้ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการมีไว้ในครอบครอง และการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า และในขณะเดียวกันไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพที่ต้องใช้เลื่อยโซ่ยนต์อย่างสุจริต และมีการกำหนดบทลงโทษไว้ดังนี้
(1) ผู้กระทำความผิด เปลี่ยนแปลงเลื่อยโซ่ยนต์ให้มีกำลังเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้นจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และต้องแก้ไขให้มีกำลังเครื่องจักรกลเท่าใบอนุญาต
(2) ผู้กระทำความผิด ไม่มีใบอนุญาตครอบครอง ผลิต หรือนำเข้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งริบเลื่อยโซ่ยนต์นั้น
(3) ผู้กระทำความผิด เปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้มีจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(4) ผู้กระทำความผิด ไม่สำเนาหรือพกใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
(5) ผู้กระทำความผิด ซ่อมแซมเลื่อยโซ่ยนต์เป็นธุรกิจเพื่อสินจ้างแก่ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตหรือเครื่องหมายที่ไม่ถูกต้องตามใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
(6) ผู้กระทำความผิด มีเลื่อยโซ่ยนต์ครอบครองเป็นมรดกโดยไม่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ภายในกำหนด 60 วันนับแต่ทราบการตายของผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
รวมถึง ปัญหาการบุกรุกป่าไม้มีผลมาจากโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐที่มุ่งสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนทำให้ทรัพยากรป่าไม้ลดอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การสร้างถนน การพัฒนาแหล่งน้ำ การจัดตั้งหมูบ้านในเขตป่าไม้เพื่อแรงจูงใจให้ราษฎรอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น (ศุภวิชญ์ จิราพงษ์ และคณะ, 2564) ในช่วงปี 2556-2562 มีคดีบุกรุกป่าเกิดขึ้นกว่า 29,350 คดี (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2563) โดยสาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากข้อบกพร่องทางกฎหมายและนโยบายของรัฐที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่าทั่วประเทศให้ถึง 50% และการดำเนินคดีขับไล่ชาวบ้าน ชุมชน และเอกชนออกจากป่าก็เป็นวิธีการหนึ่งที่รัฐใช้โดยเชื่อว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับไม่เป็นอย่างที่ภาครัฐหวัง การดำเนินคดีขับไล่ผู้คนออกจากป่า อาจไม่ได้ทำให้พื้นที่ป่าไม้ของไทยเพิ่มขึ้นเสมอไป (ภูมินทร์ พาลุสุข และ อลงกรณ์ อรรคแสง, 2562) จากการสำรวจโดยภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงปี 2556-2562 จะเห็นว่าพื้นที่ป่าไม้ของไทยค่อนข้างทรงตัว โดยในปี 2563 มีพื้นที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.22% เท่านั้น ซึ่งรวมแล้วมีพื้นที่ป่าไม้ 102.35 ล้านไร่ หรือ 31.64% ของพื้นที่ประเทศ (กรมป่าไม้, 2566) ดังนั้น การบูรณาการระหว่างภาคส่วนที่มีบทบาทและใกล้ชิดกับพื้นที่ป่าไม้ จึงเป็นส่วนสำคัญในการจัดการฟื้นที่ป่าไม้และการเพิ่มขึ้นของป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 มีส่วนสำคัญที่มุ่งส่งเสริมให้ชุมชนได้ร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของป่าชุมชน โดยมุ่งหวังให้บุคคลและชุมชนสามารถจัดการป่าชุมชนและได้รับประโยชน์จากป่าชุมชน อันจะส่งผลให้ชุมชนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน โดยสาระของพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของชุมชนในการจัดตั้งป่าชุมชน การจัดการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์ การควบคุมดูแลและป้องกันมิให้ผู้ใดบุกรุก และมีการกำหนดบทลงโทษทั้งทางปกครองและทางอาญาสำหรับผู้กระทำความผิดหรือฝ่าผืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน
การขับเคลื่อนการจัดการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บำรุงรักษาพื้นที่ป่าชุมชน ยังได้มีการขยายผลความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่างชุมชนกับองค์กรภาคเอกชน โดยมีโครงการที่น่าสนใจดังนี้
โครงการธนาคารต้นไม้ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนปลูกต้นไม้ตามแนวทางพระราชดำริ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ในที่ดินตนเองและชุมชน และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญและยั่งยืน โดยสนับสนุนชุมชนที่มีการประเมินการกักเก็บคาร์บองของต้นไม้ที่ตันคาร์บอนไดออกไซด์ละ 100 บาท แต่ไม่เกินชุมชนละ 50,000 บาท
โครงการภาคีป่าชุมชนลดโลกร้อน โดยกรมป่าไม้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนป่าชุมชน ด้วยทรัพยากรต่างๆ เช่น ทุนทรัพย์ องค์ความรู้ อุปกรณ์ รวมไปถึงการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ โดยมีการติดตามผลการดำเนินการและการออกประกาศนียบัตรเพื่อรับรองการสนับสนุนแก่ภาคเอกชนในการสนับสนุนป่าชุมชน เพื่อให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญและยั่งยืน ซึ่งองค์กรสนับสนุนสามารถใช้ลดหย่อยภาษีเงินได้ตาม พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 761 ยกเว้นภาษีเงินได้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงินสนับสนุนโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน
โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย จากการปลูก บำรุง อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าไม้ ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรงของกรมป่าไม้ เพื่อส่งเสริมให้องค์กรหรือบุคคลที่สนใจเข้าร่วมโครงการปลูก บำรุง อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าไม้ เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและได้ประโยชน์จากการจัดสรรแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกป่า บำรุง และฟื้นฟู ตามระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากการปลูก บำรุง อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าไม้ พ.ศ. 2564 เพื่อสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้บรรลุเป้าหมายร้อยละ 55 ของประเทศ หรือ 177.65 ล้านไร่ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยบรรเทาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก รวมถึง ประโยชน์สูงสุดจากการรับรองและแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายในประเทศและในระดับสากล โดยมีมาตรการแรงจูงใจส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากผู้พัฒนาโครงการฯ โดยงดเว้นภาษีเงินได้ตาม พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 760 สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยมีระยะใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 เป็นเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่อง ในการส่งเสริมและเป็นแรงจูงใจสำหรับผู้พัฒนาโครงการฯ อันนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero ภายในปี 2065” ต่อไป